สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
Socialist Republic of Vietnam
   กรุณาเลือกหัวข้อย่อย เพื่อแสดงเนื้อหาในแต่ละเรื่อง มี 6 หัวข้อ ที่แถบเมนูนี้    
วัฒนธรรม
     เวียดนามมีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน และยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และโดยที่เวียดนามมีความสัมพันธ์กับจีนมาก่อนการปฏิวัติระบบการปกครอง จึงทำให้ความเชื่อ ศิลปะ วิถีการดำรงชีวิต ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของจีนมีอิทธิพลต่อเวียดนามด้วย รวมทั้งลัทธิขงจื๊อที่ให้ความสำคัญต่อการนับถือเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ลัทธิเต๋าที่สอนเรื่องความสมดุลของธรรมชาติ รวมไปถึงศาสนาพุทธนิกายมหายานที่สอนเรื่อง กรรมดีและกรรมชั่ว นอกจากนั้นเวียดนามยังเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อน ส่งผลให้วัฒนธรรม ประเพณีและการดำรงชีวิตของชาวเวียดตาม ได้รับอิทธิพลมาจากสองประเทศนี้ ดังเช่น

เทศกาลเต็ด (Tet) หรือ "เต็ดเหงียนดาน" (Tet Nguyen Dan) :
     หมายถึง เทศกาลรุ่งอรุณแรกของปี ถือเป็นเทศกาลทางศาสนาที่สำคัญที่สุด โดยจะเริ่มต้นขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันขึ้นปีใหม่ ตามจันทรคติคือ อยู่ระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในวัน ขึ้น 15 ค่ำ ของวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดในฤดูหนาวกับวันที่ กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (วิษุวัต) ในฤดูใบไม้ผลิเป็นการเฉลิมฉลองความเชื่อในเทพเจ้า ลัทธิเต๋า ขงจื๊อ และศาสนาพุทธ รวมทั้งเป็น การแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษด้วย

เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง :
     จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวบ้านจะประกวดทำขนมเปี๊ยะโก๋ญวนหรือบันตรังทู และมีการจัดขบวนเชิดมังกร เพื่อแสดงความเคารพต่อพระจันทร์

ชุดประจำชาติ
     หญิง : สวมชุด "อ่าว หญ่าย" (Ao Dai) เป็นเสื้อคลุมยาวคอตั้ง กับกางเกงขายาว
     ชาย : สวมชุดที่คล้ยกับผู้หญิง แต่มีกระดุมที่ตัวเสื้อ
อาหารประจำชาติ
     แหนม (Nem) หรือ เปาะเปี๊ยะเวียดนาม : เป็นแผ่นแป้งข้าวเจ้าห่อเนื้อสัตว์รวมกับผักต่างๆ รับประทานคู่กับน้ำจิ้มหวาน และเครื่องเคียงอื่นๆ
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกบัว (Lotus)
ภูมิประเทศ
     มีพื้นที่เป็นแนวยาวคล้ายตัว S มีพื้นที่ประมาณ 331,690 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็น 65% ของพื้นที่ประเทศไทย) ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน

ทิศเหนือ ติดกับประเทศจีน (728 กิโลเมตร)
ทิศใต้ ติดกับทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวตังเกี๋ยและทะเลจีนใต้
ทิศตะวันตก ติดกับประเทศกัมพูชา (982 กิโลเมตร) และประเทศลาว (1,555 กิโลเมตร)

     พื้นที่ประมาณ 75% ของประเทศ ประกอบด้วยภูเขาและป่าไม้ บริเวณแผ่นดินทั้งหมดของเวียดนาม มีพื้นที่ราว 331,690 ตารางกิโลเมตร นอกนั้นเป็นไหล่เขาและหมู่เกาะต่าง ๆ นับพันเกาะเรียงรายตั้งแต่อ่าวตังเกี๋ย ไปจนถึงอ่าวไทย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญสองแห่งคือ

ที่ราบลุ่ม ปากแม่น้ำแดง (Red River Delta) ทางภาคเหนือ
ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) ทางทิศใต้

     เวียดนามเป็นประเทศที่มีพื้นที่แคบ แต่มีความยาวมาก ทำให้ลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

ภาคเหนือ : ประกอบด้วยภูเขาสูง เช่น เทือกเขาฟานซีปาน ซึ่งมีความสูงประมาณ 3,143 เมตร แม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำกุง (Cung) ซึ่งไหลบรรจบกับแม่น้ำแดง เกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง (Red River Delta) ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีที่ราบลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ Cao Bang, Vinh Yon และ อ่าว Halong Bay

ภาคกลาง : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ประกอบด้วยหินภูเขาไฟ หาดทราย เนินทราย และทะเลทราย

ภาคใต้ : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และมีที่ราบลุ่มที่สำคัญ คือ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กู๋ลองยาง" (Cuu Long Giang) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญขนาดใหญ่ สุดของเวียดนาม

สภาพภูมิอากาศ
     เป็นเขตมรสุมฤดูร้อน แต่มีความแตกต่างด้านภูมิอากาศอย่างมากในแต่ละภาคของประเทศ

ภาคเหนือ : มีภูมิอากาศคล้ายเขตเมืองร้อน มีอุณหภูมิ แตกต่างกันอย่างมากระหว่างช่วงร้อนที่สุดและหนาวที่สุด โดยมี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม - เมษายน), ฤดูร้อน (พฤษภาคม - สิงหาคม), ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน - พฤศจิกายน) และฤดูหนาว (ธันวาคม - กุมภาพันธ์)

ภาคกลางและภาคใต้ : มีภูมิอากาศคล้ายแถบเส้นศูนย์สูตร มีอุณหภูมิ เฉลี่ย คล้ายประเทศไทยคือประมาณ 27 – 30 ํ c และมี 2 ฤดูู คือ ฤดูฝน (พฤษภาคม - ตุลาคม) และ ฤดูแล้ง (ตุลาคม - เมษายน)

เศรษฐกิจ
     ภายใต้การดำเนินนโยบายโด๋ยเม้ยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 รัฐบาลเวียดนาม ได้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาวะการเมืองที่มั่นคง ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเวียดนามทำีการปฏิรูปทั้งภาคเศรษฐกิจและการเงิน โดยมีการปรับตัวเองจากระบบเศรษฐกิจที่มีการควบคุมจากส่วนกลาง มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาด การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตที่สูงมาก และมีศักยภาพการส่งออกด้านน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในขณะนี้ นอกจานั้นยังดำเนินนโยบายที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเวียดนามกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

     อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่ผ่านมา เวียดนามก็ประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้นด้วย ทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก เพื่อแก้ปัญหานี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า และลดการขาดดุลการค้า อีกทั้งยังลดความสำคัญของการ จัดกิจกรรมแสดงสินค้าของต่างชาติในประเทศลง

     เกี่ยวกับด้านทรัพยากร เวียดนามจัดว่าเป็นประเทศที่มีีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงานและแร่ธาติ เวียดนามมีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค ทำให้เวียดนาม เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับสามของอาเซียน (รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย)

     นอกจากน้ำมันแล้ว เวียดนามยังมีก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน อีกมากมายเช่นเดียวกัน สำหรับผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร เวียดนามส่งออกสินค้าหลายตัว เช่น ส่งออกพริกไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกข้าว เป็นอันดับสองของโลก (รองจากไทย) ส่งออกกาแฟเป็นอันดับสองของโลก (รองจากบราซิล) และส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นอันดับสองของโลก (รองจากอินเดีย) เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่สำคัญ : วัตถุดิบ วัสดุสิ่งทอ เครื่องหนัง เครื่องจักรผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : น้ำมันดิบ เสื้อผ้าและสิ่งทอ อารหารทะเล ยางพารา ข้าว กาแฟ รองเท้า
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน

สกุลเงิน : ด่อง (Dong) ตัวย่อ VND
อัตราแลกเปลี่ยน : 702 ด่อง = 1 บาท
(ข้อมูล พฤษภาคม ปี 2556) : 20,925 ด่อง = 1 ดอลลาร์สหรัฐ

จุดแข็ง
: จำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 14 ของโลก (ประมาณ 86 ล้านคน)
: มีปริมาณสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก
: มีแนวชายทะเลยาวกว่า 3,200 กิโลเมตร
: การเมืองมีเสถียรภาพ
: ค่าจ้างแรงงานเกือบต่ำสุดในอาเซียน (รองจากกัมพูชา)
จุดอ่อน
: ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
: ต้นทุนที่ดินและค่าเช่าสำนักงานค่อนข้างสูง

การปกครอง
ธงชาติ
ตราแผ่นดิน

     เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Party of Vietnam : CPV) เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวของประเทศ โครงสร้างการปกครองของเวียดนามแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

ฝ่ายนิติบัญญัติ
      ได้แก่ สภาแห่งชาติ (Quoc Hoi หรือ National Assembly) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ มีหน้าที่บัญญัติและ แก้ไขกฎหมาย แต่งตั้งประธานาธิบดีตามที่พรรคคอมมิวนิสต์เสนอ ให้การ รับรอง หรือถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามที่ประธานาธิบดีเสนอ รวมทั้งแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ อันเป็นระบบการบริหารแบบผู้นำร่วม

ฝ่ายบริหาร ( หรือรัฐบาลส่วนกลาง )
      ประกอบด้วย ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงตำแหน่งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น สมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีหน้าที่พิจารณา ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรบริหารระดับสูง เลขาธิการ พรรคคอมมิวนิสต์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรค คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กรมการเมือง (Politburo) เป็นองค์กรบริหารสูงสุด เป็นศูนย์ กลางอำนาจในการกำหนดนโยบาย และควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด

การปกครองท้องถิ่น
      ในแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการประชาชน (Provincial People’s Committee) ทำหน้าที่บริหารงานภายในท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ที่บัญญัติโดยองค์กรของรัฐที่อยู่ในระดับสูงกว่า ระบบการบริหารราชการท้องถิ่นของเวียดนามแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

     ระดับจังหวัดและเทียบเท่า มี 59 จังหวัด กับอีก 5 นคร คือ ฮานอย โฮจิมินห์ ไฮฟอง ดานัง และเกิ่นเธอ ซึ่งจะได้รับงบประมาณจากส่วนกลางโดยตรง รวมทั้งข้าราชการจะได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากส่วนกลาง จึงมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน

     ระดับเมืองและเทศบาล มีประมาณ 600 หน่วย

     ระดับตำบล มีประมาณหนึ่งหมื่นตำบล

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 รัฐบาลเวียดนามมีมติยกระดับ เมืองวินห์ (Vinh) ขึ้นเป็นนครอันดับหนึ่งเช่นเดียวกับ เกิ่นเธอ ดานัง และไฮฟอง ในปี 2555

การท่องเที่ยว
อ่าวฮาลอง (Halong Bay)
     เป็นอ่าวหนึ่งในพื้นที่ของอ่าวตังเกี๋ย (Tonkin) อยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม อ่าวแห่งนี้เป็นแหล่งที่รวมเกาะหินปูน ไว้มากกว่า 1,600 เกาะ บางเกาะก็จะมีถ้ำขนาใหญ่อยู่ภายใน โดยถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในนี้คือ ถ้าเสาไม้ หรือชื่อเดิมว่า "กร็อตเดแมร์แวย์ (Grotte des Merveilles)" องค์กรยูเนสโกยกย่องสถานที่แห่งนี้ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2537

หมู่โบราณสถานเมืองเว้ (Complex of Hue Monuments)
     ตั้งอยู่ในเวียดนามตอนกลาง เว้เป็นอดีตเมืองหลวงของเวียดนาม ในสมัยราชวงศ์เหงียน ช่วง พ.ศ. 2345-2488 เมืองเก่าแห่งนี้นอกจากจะเคยเป็นศูนย์กลางทางการเมืองแล้ว ยังเคยเป็นศูนย์กลางทางศาสนา และวัฒนธรรมอีกด้วย องค์การยูเนสโกยกย่องสถานที่แห่งนี้ ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ. 2536

สุสานโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh's Mausoleum)
     เป็นสุสานขนาดใหญ่ของโฮจิมินห์ อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนามที่ต่อสู้เพื่อเอกราช สุสานแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต






ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิก
     เวียดนามได้แสดงถึงความพยายามในการปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกอาเซียน โดยได้ลงนามใน Declaration on the Admission ในปี พ.ศ.2538 ตกลงที่จะเข้าเป็นภาคีในปฏิญญาและข้อตกลงฉบับต่างๆ ของอาเซียน รวมถึงความตกลงที่อาเซียนทำไว้กับคู่เจรจาทั้งหมด ในปีเดียวกันเวียดนามได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน และพิธีสารว่าด้วยการยอมรับข้อตกลงการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรร่วม การที่เวียดนามลงนามในข้อตกลงต่างๆ ในกรอบของอาเซียนนี้ เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับข้อผูกพันในความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและเปิดการค้าให้เป็นเสรีของเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามยังได้เข้าเป็นภาคีในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน ในปี พ.ศ.2539 มีผลให้เวียดนามสามารถเข้าร่วมในโครงการ AICO ซึ่งมุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน โดยมีการแบ่งส่วนตลาดและจัดสรรใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการบริการของอาเซียน ซึ่งเวียดนามต้องเปิดเสรีสาขาบริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกอาเซียน ได้แก่ การท่องเที่ยวและโทรคมนาคม

     จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2 ปีแรกหลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอาเซียน เวียดนามได้พยายามปรับตัวทางการค้าในการเข้าร่วมกับ AFTA (อาฟตา) ปรับตัวด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว อีกทั้งปรับระบบให้สอดคล้องกับระบบของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น การยกเลิกการขอวีซ่าเข้าประเทศเวียดนามสำหรับผู้ถือพาสปอร์ตทางการทูตและทางราชการจากประเทศอาเซียนด้วยกัน ผลจากการปรับตัวทางการค้า ทำให้เวียดนามก้าวสู่แนวทางความเป็นเสรีทางการค้า

     นับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศและประกาศกฎหมายว่าด้วยการลงทุนต่างชาติ ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็ให้ความสนใจและพยายามแสวงหาโอกาสเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีจุดเด่นตรงที่เป็นตลาดใหญ่ มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานที่มีศักยภาพและมีราคาเกือบต่ำสุดในอาเซียนรองจากกัมพูชา การมีเวียดนามเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นจะทำให้อาเซียนมีประชากรเพิ่มขึ้น และจะทำให้อาเซียนมีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการต่อรองทางการเมือง

     ปัจจุบันเวียดนามมีความโดดเด่นในเชิงเศรษฐกิจในอาเซียน คือ เวียดนามตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยมีแนวชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,200 กิโลเมตร มีแห่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน โดยมีปริมาณสำรองน้ำมักมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก และสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีประชากรอ่านออกเขียนได้สูงเกือบร้อยละ 100 ทั้งยังสามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา คือ อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น มีค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ช่วยดึงดูดทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ขณะเดียวกันเวียดนามก็มีจุดอ่อนในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ประชากรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก ทั้งยังมีต้นทุนที่ดินและค่าเช่าสำนักงานค่อนข้างสูง