ราชอาณาจักรกัมพูชา
Kingom of Cambodia
   กรุณาเลือกหัวข้อย่อย เพื่อแสดงเนื้อหาในแต่ละเรื่อง มี 6 หัวข้อ ที่แถบเมนูนี้    
วัฒนธรรม
     ในประเทศกัมพูชา มีการทำบุญประเพณีต่างๆ เหมือนกับเมืองไทยเช่นกัน เช่น วันสงกรานต์ เริ่มจากวันที่ 13 เดือนเมษายน ถึง 15 เมษายน ประเพณีวันลอยกระทง ช่วงสิ้นเดือนตุลาคม และอีกมากมาย วิธีบุญต่างๆ จัดขึ้นทุก ๆ ปีเพื่อให้ลูกหลานได้รู้จักประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวกัมพูชา กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมและประเพณีจึงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ความเชื่อ วิถีชีวิตของคนในประเทศ เช่น

ระบำอัปสรา (Apsara Dance) :
     เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่โดดเด่นของกัมพูชา ซึ่งถอดแบบการแต่งกาย และท่าร่ายรำมาจากภาพจำหลักรูปนางอัปสรที่ปราสาทนครวัด

เทศกาลน้ำ หรือ "บอน อม ตุก" (Bon Om Tuk) :
     เทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระคุณ ของแม่น้ำที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ โดยจะมีการแข่งเรือยาว แสดงพลุดอกไม้ไฟ และการแสดงขบวน เรือประดับไฟ

ชุดประจำชาติ
     หญิง : สวมเสื้อมีลายลูกไม้ที่คอและแขน อาจห่มสไบทับ และนุ่งผ้าทอมือ ที่เรียกว่า ซัมปอต (Sampot) และคาดเข็มขัดทับ
     ชาย : สวมเสื้อคอปิด แบบราชปะแตนที่ทำจากผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายกับกางเกงขายาว และสวมรองเท้าหนังแบบสากล
อาหารประจำชาติ
     อาม็อก (Amok) : ทำจากเนื้อปลา ปรุงรสด้วยเครื่องแกงและกะทิ มีลักษณะคล้ายห่อหมกของไทย บางตำรับอาจใช้เนื้อไก่หรือหอยแทน สาเหตุหนึ่งที่คนในประเทศนี้นิยมรับประทานปลา เพราะเป็นอาหารที่หาได้ง่าย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกลำดวน (Rumdul)

ภาษาที่ใช้
     ภาษาเขมรเป็นทางการของประเทศกัมพูชา และมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ในปัจจุบัน มีคนกัมพูชารุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย และภาษาจีนได้ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวของกัมพูชา

ภูมิประเทศ
      กัมพูชาตั้งอยู่กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดน
     ทิศเหนือ : ติดกับราชอาณาจักรไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (แขวง อัตตะปือและจำปาสัก)
     ทิศตะวันออก : ติดกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง)
     ทิศตะวันตก : ติดกับราชอาณาจักรไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด)
     ทิศใต้ : ติดอ่าวไทย

 ขนาด
     
กว้าง 500 กิโลเมตร ยาว 450 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร

แม่น้ำ/ทะเลสาบสำคัญ ได้แก่
     1. แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม 500 กิโลเมตร
     2. แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงตรงด้านหน้ากรุงพนมเปญกับบึงทะเลสาบที่บริเวณชะนุกตรู ความยาว 130 กิโลเมตร
     3. แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบและแม่น้ำโขงที่หน้าพระราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร
     4. บึงทะเลสาบ (Tonle Sap) เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร

สภาพภูมิอากาศ
     กัมพูชามีภูมิอากาศ มรสุมเขตร้อน เป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม มีฝนตกชุกที่ยาวนาน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 20 - 36 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิเฉลี่ยใน กรุงพนมเปญ 27 องศาเซลเซียส)
     ฤดูฝน เริ่ม จาก เดือน พฤษภาคม - ตุลาคม
     ฤดูแล้ง เริ่มจากเดือน พฤศจิกายน - เมษายน
     เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนมากและมีอุณหภูมิสูงสุดที่สุดของปี เดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุด และเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกที่สุด

เศรษฐกิจ
     กัมพูชามีภาวะสงครามภายในประเทศต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ก่อนที่จะยุติลงในปี 2537 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดดอย ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีระดับพฒนาน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง

     ภาวะเศรษฐกิจ ของกัมพูชาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสังคมนิยมเป็นระบอบประชาธิปไตย และ หลังจากสงครามภายในประเทศเริ่มสงบลง ได้มีการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้า และบริการเพิ่มมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ประเทศทำการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น

     กัมพูชาจึงกำหนดนโยบาย ที่มุ่งหวังการพัฒนาศักยภาพทางการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ โดยกำหนดยุทธการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ และได้ดำเนินมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงกฏหมายด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มประสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างประเทศ การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีเงินได้ และเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบิน ถนน ไฟฟ้า ประปา และ สาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น

     จากเดิมที่กัมพูชามีปัญหาภายในประเทศบ่อยครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศถอนตัวออกจากประเทศ ปัจจุบัน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงดึงความ มั่นใจของชาวต่างชาติให้กลับมาลงทุนมากขึ้น

     รายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรม พืชที่สำคัญคือ ข้าว ยางพารา พริกไทย นอกจากนั้นยังมีการทำประมง น้ำจืดและป่าไม้ด้วย ส่วนภาคอุตสาหกรรมยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าว โรงเลื่อย รองเท้า เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่สำคัญ : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ยานพาหนะ
เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์ยาง
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : เสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า ปลา ไม้ ยางพารา บุหรี่ และข้าว
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เวียดนาม สหราชอาณาจักร และ แคนนาดา
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : จีน ฮ่องกง เวียดนาม ไทย และไต้หวัน

สกุลเงิน : เรียล ตัวย่อ KHR
อัตราแลกเปลี่ยน : 133 เรียล = 1 บาท
(ข้อมูล พฤษภาคม ปี 2556) : 4,000 เรียล = 1 ดอลลาร์สหรัฐ

จุดแข็ง
: มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำ ป่าไม้ และแร่ชนิดต่างๆ
: ค่าจ้างแรงงานต่ำสุดในอาเซียน (1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
หรือประมาณวันละ 48 บาท ข้อมูลปี 55)
จุดอ่อน
: ระบบสาธารณธูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
: ต้นทุนสาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า และการสื่อสาร) ค่อนข้างสูง
: ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

การปกครอง
ธงชาติ
ตราแผ่นดิน

     กัมพูชามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่14 ตุลาคม 2547 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศคือ สมเด็จฮุน เซน โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี

     พรรคการเมืองสำคัญมี 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) หัวหน้าพรรคคือ สมเด็จเจีย ซิม รองหัวหน้าพรรคคือ สมเด็จฮุน เซน พรรคฟุนซินเปค (National United Front for an Independent, Neutral, Peaceful and Cooperative Cambodia: FUNCINPEC) หัวหน้าพรรคคือ นายเชียว พุธ รัศมี และพรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party: SRP) หัวหน้าพรรคคือ    นายสม รังสี ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียวทำให้สมเด็จฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัย

     รัฐสภาของกัมพูชาเป็นสภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร ( National Assembly) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 120 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยทางตรงและลับ มีวาระ 5 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 123 คน และมีสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์เป็นประธาน กับ วุฒิสภา (Senate)ที่มีสมาชิกมากสุดไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์2คนเลือกจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากโดยเปรียบเทียบ 2 คนและที่เหลือมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม มีวาระ 6 ปี (ปัจจุบันมีสมาชิก 61 คน ) และมีสมเด็จ เจีย ซิม เป็นประธาน

     กัมพูชาแบ่งเขตการปกครองเป็น 20 จังหวัด ได้แก่ 
(1) กระแจะ (2) เกาะกง (3) กันดาล (4) กัมปงจาม (5) กัมปงชนัง (6) กัมปงทม (7) กัมปงสะปือ (8) กัมปอต (9) ตาแก้ว (10) รัตนคีรี (11) พระวิหาร (12) พระตะบอง (13) โพธิสัต (14) บันเตียเมียนเจย (15) เปรเวง (16) มณฑลคีรี (17) สตึงเตรง (18) สวายเรียง (19) เสียมเรียบ (20) อุดรมีชัย แต่ละจังหวัดแบ่งการปกครองเป็นอำเภอ (Srok) และตำบล (Khum) นอกจากนี้ มีเขตการปกครองพิเศษเรียกว่า กรุง (Municipalities) อีก 4 กรุง ได้แก่ กรุงพนมเปญ กรุงสีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) กรุงแกบ และกรุงไพลิน 

     ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดหรือกรุง จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกรุงกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 7– 9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล ( 5 ปี ) เป็นผู้ปกครอง โดยจังหวัดจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นอำเภอ และตำบล ( เรียกเป็น “สะร๊อก” และ “คุ้ม”) ขณะที่กรุงจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเรียกเป็น “คาน” และ “สังกัด”  ทั้งนี้ หมู่บ้านหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นชุมชนย่อยลงไปจะเรียกว่า “ภูมิ”

การท่องเที่ยว
นครวัด
     ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ในประเทศกัมพูชา สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นศาสนสถานประจำนครของพระองค์ เมื่อสมัยแรกนั้น นครวัดได้ถูกสร้างเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย แต่ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในปัจจุบันปราสาทนครวัดนับเป็นสิ่งก่อสร้างสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา และได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร

เสียมเรียบ 
     นครวัด สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 30 ปี ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปราสาทขอมด้วยกันและยังเป็น เมืองในตัวของมันเองด้วย โดยมีฐานะเป็นทั้งเมืองหลวงและศาสนสถานประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่ง สร้างอุทิศถวายแก่พระวิษณุ ทุกสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นจึงล้วนแต่มีความหมายตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ ว่า ศาสนสถานคือศูนย์กลางของโลกและจักรวาล มีคูเมืองเป็นมหาสมุทร ระเบียงคตเปรียบดังเทือกเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของทวยเทพ ส่วนปรางค์ประธานที่อยู่ชั้นบนสุดหมายถึงยอดเขา นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานครวัดจะต้องไม่พลาดการชื่นชมความอ่อนช้อยงดงามของนางอัปสรที่มีอยู่ถึง 1,635 องค์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพที่คอยดูแลศาสนสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีภาพสลักที่อยู่รอบระเบียงคตเป็นเรื่องราวจากมหากาพย์และ คัมภีร์พระเวทย์ของศาสนาฮินดู รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้สร้าง และหนึ่งในนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับกองทัพชาวสยามด้วย

นครธม
     หรือเมืองพระนครหลวง เป็นราชธานีแห่งใหม่ที่ย้ายมาจากนครยโศธรปุระตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ประสงค์จะขยายอาณาจักรขอมให้ยิ่งใหญ่ขึ้น นครธมมีคูเมืองล้อมรอบกว้างประมาณ 80 เมตร ด้านละ 3 กิโลเมตร และมีกำแพงศิลาแดงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน กำแพงที่ล้อมรอบเปรียบได้กับภูเขาและมหาสมุทรที่โอบล้อมแผ่นดิน โดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าเป็นสะพานสลักหินขนาดใหญ่ มีเทวดาและอสูรฝั่งละ 54 ตนฉุดนาคขนาดใหญ่ ส่วนซุ้มประตูทางเข้ามีภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่บนยอด ภายในประกอบด้วยปราสาทบายน ลานช้าง ลานพระเจ้าขี้เรื้อน และปราสาทอื่น ๆ อีกมากมาย

ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิก
     ในอดีตที่ผ่านมา กัมพูชา เป็นประเทศที่สร้างความกังวลให้กับอาเซียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และทางการเมืองในกัมพูชาอย่างรุนแรง แต่ภายหลังจากกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2542 กัมพูชาได้แสดงสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมมือและผลักดันให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาค เช่น ในปี พ.ศ.2545 ประเทศกัมพูชาได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ณ กรุงพนมเปญ ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่บาหลีประเทศอินโดนีเซียเพียง 3 สัปดาห์ จึงทำให้เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่บาหลี กลายมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมีผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และผู้นำจากอินเดีย แอฟริกาใต้ร่วมด้วย รวม 15 ประเทศ มาร่วมประชุมเจรจาจนสำเร็จลุล่วง มีประเด็นหลักคือ ปัญหาการก่อการร้าย ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนได้ออกปฏิญญาต่อต้านการก่อการร้าย และจะร่วมมือระหว่างกันในการป้องกัน โดยจะดำเนินมาตรการร่วมกันในประเทศสมาชิกและประชาคมโลก ทั้งยังเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายประจำภูมิภาค พร้อมทั้งประณามการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้ายที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และในเมืองซัมบวนกา และเกซอน ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้แสดงเจตจำนงอย่างเต็มที่ในการให้ความร่วมมือต่อประชาคมนานาชาติในการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ

     ในปี 2555 ประเทศกัมพูชาได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้ง และในฐานะประธานอาเซียน ปี 2555 นี้ ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting (AMM) Retreat) ณ เมืองเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2555 กัมพูชาได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาในพม่า โดยสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรกรรมคว่ำบาตรต่อพม่า หลังจากที่พม่ามีการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามลำดับ รวมถึงสนับสนุนการรับประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย และเมื่อถึงวาระที่กัมพูชาจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 20 ประจำปี 2555 ณ กรุงพนมเปญ ในวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 45 ปี อาเซียน ผู้นำกัมพูชาได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค รวมทั้งป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคต และการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างถิ่น โดยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ประเทศที่ยากจนเช่นพม่า ไปจนถึงสิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก และเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย