สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
Republic of the Philippines
   กรุณาเลือกหัวข้อย่อย เพื่อแสดงเนื้อหาในแต่ละเรื่อง มี 6 หัวข้อ ที่แถบเมนูนี้    
วัฒนธรรม
     วัฒนธรรมของฟิลิปปินส์เป็นการผสมผสานกันระหว่างตะวันตกและตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับ อิทธิพลจากสเปน จีนและอเมริกัน
     อิทธิพลจากสเปน : อิทธิพลวัฒนธรรมจากสเปนและเม็กซิโก เรียกว่า Hispanic Influences ที่มีมากว่า 300 ปี ในช่วงการปกครองแบบอาณานิคม จะเห็นได้จากความเชื่อ ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคธอลิกงานประเพณีทางศาสนาในทุกปีฟิลิปปินส์ จะมารื่นเริงอันเรียกว่า Barrio Fiesta เป็นการฉลองนักบุญของเมืองหมู่บ้าน และเขตการปกครองต่างๆ มีการประกอบพิธีทางศาสนา การเดินขบวนในเมือง ฉลองนักบุญ การจุดพลุไฟ การประกวดความงามและการเต้นรำ รวมทั้งมี การตีไก่
     อิทธิพลจากจีน : อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนจะพบได้จาก อาหารซึ่งอาหารของฟิลิปปินส์นั้นจัดได้ว่าคล้าย อาหารจีน มีรสชาติค่อนข้างไม่เผ็ดร้อนนัก ไม่เหมือนอาหารพื้นบ้านของไทย ฟิลิปปินส์นิยม กินก๋วยเตี๋ยวที่เป็นเส้น เรียกว่า Mami เช่นเดียว กับอาหารจานเนื้ออื่นๆ นอกจากนี้ ภาษาจีนคือภาษา ที่ชาวจีนในฟิลิปปินส์นิยมพูดกันในหมู่ชุมชนของตน
     อิทธิพลจากอเมริกัน : ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสหรัฐฯ 14 ปี แต่ได้รับอิทธิพลจากอเมริกันอย่างมาก ประเทศสหรัฐฯเป็นแหล่งที่คน มีการศึกษาในฟิลิปปินส์นิยมไปแสวงหาโชค และหางานทำมากที่สุด อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอเมริกัน นับว่ามีการแพร่หลาย ดังเช่น การพูดและใช้ภาษาอังกฤษ ในด้านกีฬาจะเห็นได้จากกีฬาบาสเก็ตบอล (basketball) ซึ่งจัดเป็นกีฬายอดนิยมของชาติ ร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) ก็เป็นอิทธิพลมาจากอเมริกัน
     จากอิทธิพลของสเปน จีนและอเมริกา ส่งผลให้ฟิลิปปินส์มีเทศกาลสำคัญได้แก่
เทศกาลอาติ - อาติหาน (Ati-Atihan) :
     จัดขึ้นเพื่อรำลึกและแสดงความเคารพต่อ "เอตาส (Aetas)" ชนเผ่าแรกที่มาตั้งรกรากอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ และรำลึกถึงพระเยซูคริสต์ในวัยเด็ก โดยจะแต่งตัวเลียนแบบชนเผ่าเอตาส แล้วออกมารำ รื่นเริงบนท้องถนนในเมืองคาลิบู (Kalibu)
เทศกาลซินูล็อก (Sinulog) :
     งานนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมกราคมทุกปี เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักบุญซานโต นินอย (Santo Nino) โดยจะ จัดแสดงดนตรีและมีขบวนพาเหรดแฟนซีทั่วเมืองเซบู
เทศกาลดินาญัง (Dinagyang) :
     งานนี้จัดขึนเพื่อรำลึกถึงนักบุญซานโต นินอย (Santo Nino) เช่นเดียวกันกับเทศกาลซินูล็อก แต่จะจัดขึ้นในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน มกราคมที่เมืองอิโลอิโย (Iloilo)
ชุดประจำชาติ
     หญิง : นุ่งกระโปรงยาว และสวมเสื้อแขนสั้น จับจีบยกตั้งขึ้นเหนือไหล่ คล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า บาลินตาวัก
     ชาย : ใส่กางเกงขายาว และสวมเสื้อที่เรียกว่าบารองตากาล๊อก (Barong Tagalog)
อาหารประจำชาติ
     อะโดโบ (Adobo) : มีต้นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ เป็นอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อหมูหรือไก่ เคี่ยวให้สุกในซ๊อสถั่วเหลือง น้ำสมสายชู กระเทียมบด ใบกระวานและพริกไทยดำ มักมีสีน้ำตาลจากการทอดหรืออบในกระทะ
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกพุดแก้ว (Sampagita jasmine)
ภูมิประเทศ
     มีพื้นที่ประมาณ 298,170 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็น 42% ของพื้นที่ประเทศไทย) พื้นน้ำ 1,830 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่มากถึง 7,107 เกาะ มีชายฝั่งทะเลยาว ประมาณ 36,289 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปประมาณ 100 กิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดกับทะเลลูซอน
ทิศใต้ ติดกับทะเลมินดาเนา
ทิศตะวันออก ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลจีนใต้

     หมู่เกาะของฟิลิปปินส์ จะเป็นหมู่เกาะของเทือกเขาหินใหม่ ทำให้มักเกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยครั้ง และในปัจจุบัน ก็ยังมีภูเขาไฟที่พร้อมจะปะทุอย่างน้อย 22 ลูก โดยเฉพาะภูเขาไฟมายอน (Mayon) พินาตูโบ (Pinatubo) และทาล (Taal)

     นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ยังมีทราบแคบๆ ซึ่งจะมีที่ราบสำคัญคือ ที่ราบตอนกลางของเกาะลูซอนที่เรียกว่า ที่ราบมะนิลา ถือเป็น ที่ราบที่ใหญ่ที่สุด

     ฟิลิปปินส์แบ่งออกเป็น 3 หมู่เกาะหลักที่สำคัญได้แก่
หมู่เกาะลูซอน (Luzon) ทางตอนเหนือของประเทศ
หมู่เกาะวิสซายา ทางตอนกลางของประเทศ (Visayas)
หมู่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ (Mindanao)

สภาพภูมิอากาศ
ฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในพื้นที่มรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดูกาลคือ
ฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม
ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

เศรษฐกิจ
     ฟิลิปปินส์มีรายได้จากการค้าแรงงานในต่างแดนสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์มีทักษะทางภาษาอังกฤษและภาษาสเปน ทำให้เป็นข้อได้เปรียบแรงงานในประเทศอาเซียนอื่นๆ ประเทศที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมไปทำงานคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่ไปเป็นพยาบาล วิศวกร นักดนตรี และธุรกิจด้านบริการ

     นอกจากนั้น ฟิลิปปินส์ยังเป็นประเทศเกษตรกรรมเช่นกัน แต่เนื้อที่ที่ใช้เพาะปลูกมีอย่างจำกัด โดยมักจะทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ราบต่ำและ มีการปรับพื้นที่เนินเขาให้เป็นขั้นบันได พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ มะพร้าว อ้อย ป่านอบากา และข้าวเจ้า ฟิลิปปินส์ยังมีการส่งออกแร่สำคัญ หลายชนิด ได้แก่ เหล็ก โครไมต์ ทองแดง และเงิน เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่สำคัญ : เครื่องใช้ไฟฟ้า, เหล็ก, สิ่งทอ, เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : ไม้, ทองแดง, เครื่องใช้ไฟฟ้า
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์

สกุลเงิน : เปโซฟิลิปปินส์ (Philippines Peso) ตัวย่อ PHP
อัตราแลกเปลี่ยน : 1.38 เปโซ = 1 บาท
(ข้อมูล พฤษภาคม ปี 2556) : 41 เปโซ = 1 ดอลลาร์สหรัฐ

จุดแข็ง
: ประชากรมากเป็นอันดับ 12 ของโลก ( เกือบ 100 ล้านคน)
: แรงงานทั่วไปมีความรู้ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
จุดอ่อน
: ที่ตั้งห่างไกลจากประเทศสมาชิกอาเซียน
: ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิภาพทางสังคมยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

การปกครอง
ธงชาติ
ตราแผ่นดิน

     ฟิลิปปินส์ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในรูปแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 1 วาระ วุฒิสภามีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ (nationwide ? elected) มีวาระ 6 ปี และรัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาจำนวนครึ่งหนึ่ง (12 คน) ทุก 3 ปี

     ฟิลิปปินส์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 เขต (region) 80 จังหวัด (province) และ 120 เมือง (city) โดยแบ่งการปกครองย่อยออกเป็น 1,499 เทศบาล (municipality) และ 41,969 บารังไก (barangay) ซึ่งเทียบเท่าตำบลหรือหมู่บ้าน

     ฟิลิปปินส์จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวม 17,996 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 50.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด โดยนายเบนิกโน เอส อาคีโน ที่สาม (Benigno S. Aquino III) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากพรรค Liberal (LP) และนายเจโจมาร์ บิไน (Jejomar Binay) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมากาติ (Makati) ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี

     รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี อาคีโน ที่สาม มุ่งให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบบริหารประเทศเพื่อปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและขจัดความยากจน จึงได้รับความนิยม จากประชาชนและมีสถานะความมั่นคงทางการเมืองสูง ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานกฎระเบียบด้านงบประมาณ การปรับปรุงระบบข้าราชการพลเรือน และการปรับปรุงระบบการศึกษา ส่วนประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลฟิลิปปินส์เน้นการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นท้าทายต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคติดต่อ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ และการสร้างพลังประชาคมระหว่างประเทศในทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ภายในปี 2558

การท่องเที่ยว
อุทยานปะการังทางทะเลทุบบาตาฮะ (Tubbataha Reefs Natural Park)
     อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 130,028 เฮกตาร์ มีแนวปะการังเหนือและใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังและ สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ แล้วยังเป็นที่อยู่อาศัยของนกและเต่าทะเลอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผาหินปะการังใต้น้ำเก่าแก่ ที่มีความสูงถึง 100 เมตร องค์การยูเนสโกยกย่องให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อ พ.ศ. 2536


โบสถ์บาโรกแห่งฟิลิปปินส์ (Baroque Churches of The Philippines)
     โบสถ์แห่งนี้มีทั้งหมด 4 หลัง ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา ซานตามาเรีย ปาโออาย และมิอากาโอ หลังแรกสร้างขึ้นโดยชาวสเปนในช่วงปลายคริสต์ ศตวรรษที่ 16 มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีศิลปะแบบบาโรกของยุโรปที่สร้างโดยช่างฝืมือชาวจีนและฟิลิปปินส์ องค์การยูเนสโกยกย่องให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ. 2536



นาข้าวขั้นบันไดบานัว (Banaue Rice Terraces)
     ชาวพื้นเมืองเผ่าอิฟูเกา (Ifugao) เป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญยาชิ้นนี้ไว้ที่เกาะลูซอน (Luzon) ตอนเหนือของฟิลิปปินส์ มีอายุกว่า 2,000 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาหน้าดิน ช่วยกักเก็บน้ำฝน และป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย องค์การยูเนสโกยกย่องให้ สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2538


ป้อมซานติเอโก (Fort Santiago)
     เคยเป็นด่านแรกที่ใช้ในการป้องกันการโจมตีจากข้าศึก โดยเฉพาะข้าศึกที่เข้ามาทางปากแม่น้ำปาซิก และอ่าวมะนิลา แต่ก็ถูกกองทัพสหรัฐฯ ทำลาย ซึ่งต่อมาก็มีการบูรณะซ่อมแซมให้เป็น "ปูชนียสถานแห่งเสรีภาพ" (Shrine of Freedom)

ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิก
     ในระยะแรกของการเป็นสมาชิกอาเซียน ฟิลิปปินส์ค่อนข้างมีความความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียนอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเริ่มปรับนโยบายทางเศรษฐกิจโดยการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และพัฒนาประเทศในลักษณะพึ่งตนเอง ภายใต้นโยบาย “เอเชียนิยม” ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กับอาเซียนที่เห็นได้ชัด เกิดขึ้นในปี 2519 เมื่อฟิลิปปินส์ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งออกใหม่ (National Export Strategy) โดยมุ่งบุกเบิกตลาดใหม่ รวมทั้งเร่งหาแหล่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อใช้ถ่วงดุลอิทธิพลของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในระดับภูมิภาค ฟิลิปปินส์ได้มุ่งเข้าหาอาเซียน โดยคาดหวังที่จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ด้วยเหตุผลที่ฟิลิปปินส์ผูกพันกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐมาเป็นเวลานาน ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคไม่มีเสถียรภาพมั่นคงมากนัก จึงทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอาเซียนในระยะแรก (2510-2520) ไม่ประสบผลเท่าที่ควร แต่ต่อมาในช่วงก่อนปี 2540 ได้มีการขยายตัวทางการค้ากับประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6.5 และมีการลงทุนจากกลุ่มอาเซียน เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ (Export Processing Zone และ Freeport Zone)

     ในด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2530 ที่กรุงมะนิลา และครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 11-14 มกราคม 2540 ที่เมืองเซบู ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นพัดผ่านจึงทำให้การประชุมจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นประชุมในวันที่ 10-14 ธันวาคม ในปีเดียวกันแทน จากผลของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 นี้ ประเทศฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนได้เร่งผลักดันให้มีการหารือเกี่ยวกับการเร่งการก่อตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยนายอัลเบอร์โท โรมูโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ได้กล่าวย้ำถึงความร่วมมือในการจัดตั้งอาเซียนเป็นประชาคมแห่งความมั่นคง ประชาคมทางเศรษฐกิจ และประชาคมทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อสร้างครอบครัวใหญ่ที่แบ่งปันกันและเอาใจใส่รักใคร่กัน