ราชอาณาจักรไทย
Kingdom of Thailand
   กรุณาเลือกหัวข้อย่อย เพื่อแสดงเนื้อหาในแต่ละเรื่อง มี 6 หัวข้อ ที่แถบเมนูนี้    
วัฒนธรรม
     ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและการดำรงชีวิตของคนไทยนั้น ได้รับอิทธิพลมาจาก มอญ ขอม อินเดีย จีนและชาติตะวันตก แต่ส่วนใหญ่จะผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา

การไหว้ :
     เป็นประเพณีการทักทายที่ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของไทย โดยเป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และให้เกียรติกันและกัน นอกจากการทักทายแล้ว การไหว้ยังสื่อถึงการขอบคุณ ขอโทษ หรือกล่าวลาด้วย

โขน :
     เป็นนาฏศิลป์เก่าแก่ของไทย มีลักษณะสำคัญที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขนทั้งหมด ยกเว้นตัวนาง พระ และเทวดา ซึ่งแสดงโดยใช้ท่ารำและท่าทางประกอบทำนองเพลง ดำเนินเรื่องด้วยบทพากย์และบทเจรจา เรื่องที่นิยม นำมาแสดงโขนคือ รามเกียรติ์

เทศกาลสงกรานต์ (Songkran Festival) :
     ประเพณีเก่าแก่ ถือเป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติกัน โดยจะมีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา ขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย รวมทั้งมีการเล่นสาดน้ำ เพื่อความสนุกสนานด้วย

ชุดประจำชาติ
     หญิง : สวมชุดไทยจักรี ประกอบด้วยสไบเฉียง เปิดบ่าข้างขวา ชายสไบคลุมด้านซ้าย ทิ้งชายด้านหลังยาวตามสมควร และนุ่งทับ ด้วยผ้าซิ่นไหมยก คาดเข็มขัด และสวมเครื่องประดับ
     ชาย : สวมชุดพระราชทาน ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย คอตั้ง ผ่าอกตลอด ติดกระดุม 5 เม็ด มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว โดยจะเป็นสีเรียบ หรือมีลวดลายก็ได้
อาหารประจำชาติ
     ต้มยำกุ้ง : เป็นอาหารประเภทแกงที่เน้นรสชาติเปรี้ยวและเผ็ดเป็นหลัก มีส่วนประกอบสมุนไพรที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยมะนาว พริก และน้ำปลา
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek)
ภูมิประเทศ
     มีพื้นที่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร (มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของอาเซียน รองจาก อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 50 ของโลก) ตั้งอยู่ในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ใจกลางกลุ่มประเทศอาเซียน

ทิศเหนือ ติดกับเมียนมาร์ (2,202 กิโลเมตร - รวมทั้งหมด) และลาว (1,750 กิโลเมตร - รวมทั้งหมด)
ทิศใต้ ติดกับมาเลเซีย (576 กิโลเมตร) และอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดกับลาวและกัมพูชา (798 กิโลเมตร)
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน และเมียนมาร์

     ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 6 ภาค มีลักษณะภูมิประเทศต่างกันไป คือ
ภาคเหนือ : มีภูเขาสูง โดยจุดสูงสุดคือยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง แห้งแล้ง ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ทำการเกษตร
ภาคกลาง : เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด
ภาคใต้ : ติดกับทะเลทั้งสองฝั่ง มีจุดแคบสุดที่คอคอดกระจังหวัดระนอง
ภาคตะวันออก : มีชายฝั่งทะเลเรียบยาว และโค้งเว้า
ภาคตะวันตก : เป็นหุบเขาและแนวเทือกเขา

สภาพภูมิอากาศ
     มีภูมิอากาศแบบร้อนชึ้น แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อน
ในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม เป็นช่วงฤดูฝน
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูหนาว
     อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 18-34 องศาเซลเซียส

เศรษฐกิจ
     ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 20 ของโลก รายได้หลักของประเทศมาจากอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม

     ไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ในภาคเกษตรกรรม ข้าวเป็นพืชหลัก ที่สำคัญที่สุดของประเทศ ส่วนพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ยางพารา ผัก และผลไม้ต่างๆ รวมไปถึง การทำปศุสัตว์ นากุ้ง ประมงทางทะเล จนทำให้ไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ดีบุก ก๊าซธรรมชาต ทังสเตน แทนทาลัม ตะกั่ว ยิปซั่ม ลิกไนต์ ไม้ซุงและ ยางพารา เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่สำคัญ : น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล ส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ สินแร่ เงิน และทองคำ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบรถยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เคมีภัณฑ์
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง

สกุลเงิน : บาท (Baht) ตัวย่อ THB
อัตราแลกเปลี่ยน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 29.77 บาท
(ข้อมูล พฤษภาคม ปี 2556)

จุดแข็ง
: เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรหลายรายการรายใหญ่ของโลก
: ที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่างๆในอาเซียน
: สาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วถึง
: ระบบธนาคารค่อนข้างเข้มแข็ง
: มีแรงงานจำนวนมาก
จุดอ่อน
: แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ
: เทคโนโลยีการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นขั้นกลาง

การปกครอง
ธงชาติ
ตราแผ่นดิน

     ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบ ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ มีกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

     ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกวุฒิสภา และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและต้องสังกัดพรรคการเมือง

     ประเทศไทยแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 76 จังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ) โดยจังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดล่าสุดที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

     สถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ มีดังนี้
1. ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล
2. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิก 2 ส่วน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งประชาชนเลือกตั้งเข้ามาทั้งหมด และวุฒิสมาชิก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามการเสนอ ขึ้นโปรดเกล้าฯ ของนายกรัฐมนตรี
3. ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล มีหน้าที่พิจารณาคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามบัญญัติของกฏหมาย เพื่อให้เกิดความ ยุติธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ศาลเป็นสถาบันอิสระจากรัฐสภาและรัฐบาล มีคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ทำหน้าที่ควบคุมการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ เพื่อให้ศาลเป็นสถาบันที่ ธำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง

การท่องเที่ยว
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว (Temple of The Emerald Buddha)
     เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยอยุธยา โดยวัดพระแก้วเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่

    ไทยมีสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั้งหมด 5 แห่ง โดยแบ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง คือ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นครประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง นอกจากนั้นยังมีแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ อีก 2 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง และป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่

นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)
     เป็นเมืองหลวงเก่า เป็นแหล่งศึกษาประวัตศาสตร์สำคัญ มีโบราณสถานซึ่งประกอบด้วยพระปรางค์ และวัดขนาดใหญ่ จำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต จึงได้รับเลือกเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2534

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Bann Chiang Archaeological Site)
     อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การดำรงชีวิตของมนุษย์ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 5,000 ปี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2535





ป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ (Dong Payayen - Khao Yai Forest Complex)
     อยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา และตาพระยา โดยมีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่หลากหลาย จึงได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี พ.ศ. 2548




ความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิก
     ไทยมีบทบาทในเชิงรุก ทั้งในแง่การก่อตั้งและการพัฒนาให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จ และเป็นจุดกำเนิดของอาเซียนที่สำคัญ โดยมีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ เช่น การมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี พ.ศ. 2535 ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARF- ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ใช้พูดคุยปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2537 ความร่วมมือในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนความริเริ่มในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540

     ขณะเดียวกันอาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพ สันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ ตลอดจนการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียนได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวม

     ผลจากการร่วมเป็นสมาชิกของประเทศไทย ได้ทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม กล่าวคือ ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร และได้รับสิทธิในการผลิตเกลือหินและโซดาแอช ตัวถังรถยนต์ในอุตสาหกรรม อีกทั้งในด้านการเงินและธนาคาร มีการจัดตั้งบริษัทการเงินของอาเซียน และคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน ด้านการเกษตร ได้มีการสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการปลูกป่า ด้านการเมือง สมาชิกของอาเซียนช่วยแบ่งเบาภาระของไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ ยิ่งกว่านั้นในมุมมองทางด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยได้มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้แต่ละประเทศมีความเข้าใจดีต่อกัน