กฏบัตรอาเซียน คือ ธรรมนูญหรือกฏหมายสูงสุดของอาเซียน เป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิก ที่เห็นชอบ ในการกำหนดกรอบโครงสร้างองค์กร เป้าหมาย หลักการและกลไกที่สำคัญต่างๆในอาเซียน โดยมุ่งให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฏกติกาในการ ทำงานมากขึ้น ผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองกฏบัตรอาเซียนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 และมี ผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551
กฏบัตรอาเซียนประกอบด้วย อารัมภบท และข้อบังคบ 55 ข้อ ใน 13 หมวด
หมวดที่ 1 วัตถุประสงค์และหลักการ - กล่าวถึงวัตถุประสงค์และหลักการ
หมวดที่ 2 สภาพบุคคลตามกฏหมาย - ระบุฐานะทางกฏหมาย
หมวดที่ 3 สมาชิกภาพ - อธิบายสมาชิก การรับสมาชิกใหม่
หมวดที่ 4 องค์กร - กล่าวถึงองค์กรและการทำงาน ประกอบด้วย ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประสานงาน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ องค์กรรัฐมนตรีเฉพาะสาขา คณะกรรมการถาวรประจำอาเซียน เลขาธิการและสำนักเลขาธิการ องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
หมวดที่ 5 องค์ภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน - มีรายชื่อตามภาคผนวก 2
หมวดที่ 6 ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ - เอกสิทธิ์ทางการทูตของอาเซียน
หมวดที่ 7 การตัดสินใจ - กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินที่อยู่บนหลักการปรึกษาหารือ และฉันทามติ
หมวดที่ 8 การระงับข้อพิพาท - กล่าวถึงวิธีระงับข้อพิพาทและคนกลาง โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เป็นช่องทางสุดท้าย
หมวดที่ 9 งบประมาณและการเงิน - กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณของสำนักเลขาธิการ
หมวดที่ 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน - กล่าวถึงประธานอาเซียน พิธีการทางการทูต ภาษาทำงาน
หมวดที่ 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ - กล่าวถึงคำขวัญ ธง ดวงตรา วันและเพลงอาเซียน
หมวดที่ 12 ความสัมพันธ์ภายนอก - กล่าวถึงแนวทางและขั้นตอนการเจรจาของอาเซียน กับคู่เจรจา
หมวดที่ 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย - กล่าวถึงการบังคับใช้
ภาคผนวก 1 - กล่าวถึงองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
ภาคผนวก 2 - กล่าวถึงองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน คือ รัฐสภา องค์กรภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม
ภาคผนวก 3 - อธิบายรายละเอียดธงอาเซียน
ภาคผนวก 4 - อธิบายรายละเอียดดวงตราอาเซียน
กฎบัตรอาเชียนช่วยให้อาเซียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างกลไกการติดตามความตกลงต่างๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม และผลักดันอาเซียนให้เป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มีข้อกำหนดใหม่ๆ ที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างการทำงานและกลไกต่างๆ ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา เช่น
1. กำหนดให้เพิ่มการประชุมสุดยอดอาเซียนจากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้นำมีโอกาสหารือกันมากขึ้น พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันอาเซียนไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมในอนาคต
2. มีการตั้งคณะมนตรีประจำประชาคมอาเซียนตามเสาหลักทั้ง 3 ด้าน คือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
3. กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งเอกอัคราชฑูตประจำอาเซียนไปประจำที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแนวแน่ของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมประชุมและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก
4. หากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้โดยหลักฉันทามติ ให้ใช้การตัดสินใจรูปแบบอื่นๆ ได้ตามที่ผู้นำกำหนด
5. เพิ่มความยืดหยุ่นในการตีความหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยมีข้อกำหนดว่าหากเกิดปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนร่วมของอาเซียน หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศสมาชิกต้องหารือกันเพื่อแก้ปัญหา และกำหนดให้ประธานอาเซียนเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว